เช็ก 5 สัญญาณควรระวังก่อนสุนัขอ้วน
หลายคนเห็นสุนัขอ้วนขนฟู น่ารัก น่ากอดแล้วอยากเลี้ยงให้น้องหมาของตัวเองอุดมสมบูรณ์ตามที่ได้เห็นมาบ้าง แต่คุณรู้หรือไม่ว่าบางทีสุนัขเหล่านั้นอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนอยู่! โรคอ้วนในสุนัขเป็นหนึ่งในโรคที่มักคืบคลานมาแบบไม่รู้ตัวและเป็นโรคที่ควรระวังอันดับต้นๆ เพราะถ้าหากเป็นแล้วมีสิทธิ์เป็นได้ยาวๆ ตลอดชีวิต บอกเลยว่าการปล่อยให้สุนัขเป็นโรคอ้วนน่ากลัวกว่าที่คิด! ว่าแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขมีความเสี่ยง เรามาดู 5 สัญญาณควรระวังก่อนที่สุนัขจะเป็นโรคอ้วนกันเลย
- สุนัขหายใจลำบาก
สุนัขหายใจแรง หายใจลำบาก หอบ นอกจากจะเป็นสัญญาณของฮีทสโตรก ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญของสุนัขอ้วนอีกด้วย การที่สุนัขเริ่มหายใจลำบาก แสดงว่าระบบทางเดินหายใจเริ่มมีปัญหาเพราะไขมันสะสมในร่างกายนั้นไปเกาะอวัยวะภายในต่างๆ ทำให้แม้น้องหมาจะอยู่นิ่งๆ ก็สามารถหายใจลำบากได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจพัฒนาเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจ ส่งผลทำให้สุนัขขยับร่างกายไม่คล่องเหมือนเดิมเพราะเหนื่อย
- คลำแล้วไม่เจอกระดูกซี่โครง
การตรวจสอบว่าสุนัขอ้วนหรือไม่ที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ ก็คือการคลำหากระดูกซี่โครงนั่นเอง หากสุนัขน้ำหนักปกติ คุณจะสามารถคลำหากระดูกซี่โครงเจอได้ทันที เมื่อสัมผัสแล้วจะไม่รู้สึกถึงก้อนไขมันใดๆ ทรวดทรงของน้องหมาจะดูดีอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าหากคุณลองจับแล้วไม่เจอกระดูกซี่โครงให้คาดการณ์ได้เลยว่าสุนัขเริ่มอ้วนแล้ว สาเหตุที่หาไม่เจอก็เพราะเอวของน้องหมามีไขมันเกาะหนากว่าปกติ
- เหนียงออก รูปร่างทรงสี่เหลี่ยม
รูปร่างที่เปลี่ยนไปก็เป็นอีกจุดสังเกตของสุนัขอ้วน ไขมันสะสมที่พอกจนหนาขึ้นทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง คุณจะมองเห็นความอ้วนได้ชัดจากเหนียงที่ออกเป็นชั้นและรูปร่างน้องหมาที่มองจากด้านข้างแล้วกลายเป็นทรงสี่เหลี่ยม ในจังหวะก้าวเดินแต่ละทีก็มีก้อนเนื้อสั่นไปมาบริเวณขา
- มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
ปกติแล้วสุนัขเป็นสัตว์ที่ร่าเริง ไม่อยู่นิ่ง จำเป็นต้องพาออกไปทำกิจกรรมบ่อยๆ แต่ถ้าหากวันหนึ่งสุนัขของคุณไม่กระตือรือร้น เปลี่ยนมาชอบอยู่กับที่เฉยๆ สนใจแต่เรื่องกิน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญญาณสุนัขอ้วนเช่นกัน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะสุนัขเริ่มขยับตัวไม่สะดวก ให้ลองนึกถึงตอนที่เราน้ำหนักขึ้นเยอะๆ เชื่อเถอะว่าคุณก็จะรู้สึกตัวหนักไม่อยากออกไปไหน ดังนั้นสุนัขก็รู้สึกไม่ต่างกันกับคุณ
- น้ำหนักขึ้นต่อเนื่อง
อีกหนึ่งสัญญาณสุนัขอ้วนที่เห็นได้ชัดและใช้เป็นข้อมูลเชิงสถิติได้ก็คือการที่น้ำหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าหากสุนัขเริ่มกินเยอะขึ้นเรื่อยๆ อ้อนขอขนมตลอดจนผิดสังเกต เทอาหารไว้เท่าไหร่ก็หมดจนไม่พอ ผลทั้งหมดจะปรากฏที่ตัวเลขบนเครื่องชั่งอย่างแน่นอน
โรคอ้วนในสุนัขอันตรายกว่าที่คิด
สุนัขทุกตัวมีน้ำหนักที่เหมาะสมของตัวเอง หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ 20% ก็จะถือว่าเป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตามการถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนในสุนัขนั้นยังใช้ปัจจัยอื่นๆ ประกอบร่วมด้วย โดยวิธีพื้นฐานที่สัตวแพทย์ใช้ตรวจสอบความอ้วนของสุนัขก็คือการจับหาซี่โครงนั่นเอง ไขมันสะสมภายในร่างกายที่มากจนเกินไปทำให้สุนัขอ้วน แต่สิ่งที่ทำให้โรคอ้วนน่ากลัวและอันตรายกว่าที่คิดก็เพราะไขมันส่วนเกินเหล่านี้มักเข้าไปเกาะติดอวัยวะภายในอื่นๆ ส่งผลกระทบให้เกิดเป็นโรคแทรกซ้อนขึ้นมา เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคข้ออักเสบหรือโรคเกี่ยวกับกระดูกอื่นๆ
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- โรคตับ ไต
ซึ่งปกติโรคเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพและต้องจับตามองอยู่แล้ว การเป็นหลายๆ โรคพร้อมกันไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ในทางการแพทย์หากสุนัขอ้วนต้องเข้าผ่าตัด ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าสุนัขที่น้ำหนักปกติ เนื่องจากการวางยาสลบในสุนัขน้ำหนักเกินจำเป็นต้องใช้ยาสลบปริมาณสูง ทำให้สุนัขต้องพักฟื้นนานขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือการเป็นโรคอ้วนยังส่งผลให้อายุขัยของน้องหมาลดลงอีกด้วย
สุนัขอ้วนต้องลดน้ำหนักอย่างไร?
มาถึงตรงนี้ถ้าใครเริ่มกังวลโรคอ้วนในสุนัขจนไม่เป็นอันทำอะไรก็ขอให้ใจเย็นๆ กันก่อน แม้ว่าการลดน้ำหนักในสุนัขอ้วนอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่ก็ยังสามารถทำได้อย่างปลอดภัย วิธีที่ดีที่สุดแนะนำให้คุณพาน้องหมาไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หลักๆ แล้วการปรับเปลี่ยนอาหารการกินและกิจวัตรประจำวันคือคีย์หลักในการลดน้ำหนัก ตัวอย่างเช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ งดกินขนมและอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เป็นต้น
หากทำสิ่งเหล่านี้ได้และเริ่มพาน้องหมาออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ เช่น การเดินวันละ 10 – 20 นาทีในบริเวณที่อากาศถ่ายเทและไม่ร้อนเกินไป หรือเล่นกีฬาเพื่อสุนัขเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ก็ช่วยทำให้สุนัขสามารถเผาผลาญไขมันส่วนเกินส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างถูกวิธีได้
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพอสุนัขที่เริ่มมีน้ำหนักตัวมากขึ้นจะมีปัญหาข้อเข่าและเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย ซึ่งสำหรับน้องหมาที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าจนเป็นอุปสรรคต่อการเดิน เจ้าของสามารถพาไปทำออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ ที่กระทบกับข้อเข้าน้องไม่มาก เช่น การพาไปว่ายน้ำ แล้วอย่าลืมให้น้องทาน Antinol อาหารเสริมสุนัข อย่างสม่ำเสมอ
สุขภาพคือสิ่งที่แม้ว่าคุณจะมีเงินมากมายขนาดไหนก็ใช้ซื้อมาไม่ได้ ยิ่งรู้ตัวเร็วก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ไวยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าหากน้องหมาของคุณเริ่มส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังจะเป็นสุนัขอ้วน แนะนำให้ผู้ปกครองเข้าดูแลอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังการกินและที่สำคัญคือพาตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอได้เลย เพราะบางครั้งโรคร้ายก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว การเตรียมพร้อมและรู้วิธีรับมือไว้ตลอดเวลาจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
แหล่งอ้างอิง: โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ อาร์ทีบี