โรคไตในสุนัข

โรคไตในสุนัข ภัยเงียบที่ป้องกันได้

โดย Antinol Team

Written with love

คนรักสัตว์สุนัขแบบเรา เวลาเลี้ยงสุนัขสักตัว ก็คงไม่อยากให้เขามีโรคภัยไข้เจ็บอะไร แต่หลายๆ ครั้ง การขาดความเข้าใจในชีวิตและธรรมชาติของสุนัข ก็อาจจะทำให้พาความเจ็บป่วยมาหาสุนัขของเราได้อย่างไม่รู้ตัว ‘โรคไตในสุนัข’ เองก็เช่นกัน ไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่สามารถเกิดโรคไตได้ แต่สุนัขเองก็สามารถเกิดโรคไตได้ ซึ่งถ้าหากความรุนแรงไปถึงขั้นไตวายเฉียบพลัน ก็อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้ แล้วเราจะป้องกันเจ้าสุนัขตัวน้อยของเราจากโรคไตวายอย่างไร ให้บทความนี้พาคุณไปหาคำตอบกัน 

โรคไตคืออะไร 

ไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่หลักในการกรองน้ำกลับและขับของเสียที่ไม่มีประโยชน์ เช่นสารพิษและยาส่วนเกินออกจากร่างกาย ทิ้งไปทางปัสสาวะ รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย รวมไปถึงการควบคุมความดันโลหิตและผลิตฮอร์โมนในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง การเป็นโรคไตในสุนัขมีจากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุคือภาวะที่ไตเองทำงานผิดปกติ ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทก็คือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง เพราะไตเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหลายๆ ระบบในร่างกาย ทำให้เมื่อเกิดภาวะความผิดปกติขึ้นที่ไตแล้ว ย่อมทำให้ส่งผลกระทบกับร่างกายของสุนัขเป็นอย่างมาก

สาเหตุของโรคไตในสุนัข

โรคไตในสุนัข สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมีปัจจัยหลักๆ ดังนี้

  • อายุ โดยเฉพาะสุนัขสูงอายุ ที่สามารถพบสภาวะไตวายเรื้อรังได้บ่อย เนื่องจากไตค่อยๆ เสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้น การทำงานของไตจะลดลง ทำให้ร่างกายสะสมของเสียไว้มาก โดยทั่วไป สุนัขพันธุ์เล็กจะพบโรคไตได้ที่อายุ 10-14 ปี และในสุนัขพันธุ์ใหญ่จะพบตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป 
  • อาหาร ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่เจ้าของสามารถป้องกันได้ เนื่องจากการให้อาหารที่มีโซเดียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนในปริมาณที่สูงจนเกินไป อาจจะก่อให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้เช่นกัน ดังนั้นการเลือกอาหารสุนัข ควรพิจารณาให้สารอาหารครบถ้วนและอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  • ยาบางชนิด ที่อาจได้รับต่อเนื่องจากการรักษาโรค ส่งผลต่อความผิดปกติที่ไตได้ เนื่องจากไตมีหน้าที่ขับของเสียและยาส่วนเกิน 
  • สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสารเคมีบางชนิด สารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคบางอย่าง สารตะกั่วในสีทาบ้าน ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุให้สุนัขรับสารเคมีเข้าร่างกายโดยไม่รู้ตัว จึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่การันตีว่าปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยง

โรคไตสุนัข

5 อาการที่บอกว่าสุนัขของคุณเสี่ยงเป็นโรคไต

ในความเป็นจริงแล้ว เราจะสังเกตอาการของโรคไตในสุนัขได้ยากในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากอาการจะเริ่มแสดงให้เห็นในระดับที่การทำงานของไตอาจจะลดลงไปมากถึง 75% แล้ว เจ้าของจึงควรใส่ใจและหมั่นสังเกตอาการของสุนัขจากสัญญาณของโรคไตเหล่านี้ 

  1. กระหายน้ำและปัสสาวะมากขึ้น เนื่องจากไตไม่สามารถดูดน้ำคืนกลับได้ตามปกติ จึงทำให้สุนัขผลิตปัสสาวะออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุของการกระหายน้ำมากขึ้นเนื่องจากต้องพยายามดื่มน้ำเพื่อทดแทนที่เสียไป 
  2. อาเจียนและเบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในสุนัขที่ป่วยเป็นไตวายเรื้อรัง เนื่องจากเมื่อไตไม่สามารถกำจัดของเสียได้ ทำให้เกิดการสะสมของเสียจำพวกไนโตรเจนหรือสารกลุ่ม Uremic Toxin ในกระแสเลือด และของเสียเหล่านี้จะส่งผลให้สุนัขเกิดการคลื่นไส้และอาเจียนผ่านการกระตุ้นสารเคมีในสมองส่วนท้าย โดยหากสุนัขมีการอาเจียนบ่อย มากกว่า 3 ครั้ง ควรพาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค
  3. อาการชัก หรือทรงตัวไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากร่างกายของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต จะเกิดภาวะ ‘Uremia’ หรืออาการเป็นพิษในเลือดจากสารยูเรีย ครีทินิน หรือกรดยูริก ที่ไตไม่สามารถขับออกได้ ทำให้สะสมของเสียในเลือดมากขึ้น และเกิดความผิดปกติต่อระบบสมอง
  4. ความดันโลหิตสูง เป็นผลโดยตรงจากการที่ไตมีความผิดปกติ เพราะไตมีหน้าที่ควบคุมความดันโลหิต เมื่อไตมีปัญหา การควบคุมความดันโลหิตก็ต่ำลง ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง 
  5. ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากหนึ่งในหน้าที่ของไตคือการผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ไปกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อสุนัขมีภาวะไตวาย ไตจะสูญเสียการทำงานไป และไม่สามารถผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ได้ เกิดเป็นภาวะโลหิตจางตามมานั่นเอง โดยสิ่งที่สังเกตได้จากภาวะโลหิตจางคือ สุนัขจะมีอาการอ่อนแรง ไม่ร่าเริง เหงือกและเยื่อเมือกมีสีซีดจาง 

การดูแลและป้องกันโรคไตในสุนัข

  • ดูแลเรื่องอาหารและน้ำ โดยควรควบคุมปริมาณโปรตีนและเกลือแร่บางชนิด เนื่องจากเมื่อโปรตีนถูกย่อย จะเกิดเป็นของเสียในกระแสเลือด และไตมีหน้าที่ขับของเสียนั้นออกทางปัสสาวะ ส่วนเกลือแร่เช่น ฟอสฟอรัส หรือโซเดียม หากสุนัขได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนักในการขับออก นอกจากนี้ ควรเสริมวิตามินและกรดไขมันที่จำเป็นบางชนิด เช่น วิตามินบี ซี และกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 EPA DHA  ด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อช่วยคงสภาพการทำงานของไตให้ดียิ่งขึ้น 
  • ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะกับสุนัขที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจเลือด เพราะโรคไตในสุนัขสามารถตรวจพบได้จากค่าเลือด

ถึงแม้ว่าโรคไตอาจจะดูรุนแรงหากเกิดกับสุนัขที่เรารัก แต่การดูแลเอาใจใส่และหมั่นสังเกตเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตในสุนัขลงได้ 

 

สั่งซื้อ Antinol สำหรับสุนัข

Related stories